ทนายสายตรง.com

ฎีกาฉบับเต็ม

ฎีกาฉบับเต็ม

#ไฟแนนซ์มีข้อตกลงให้ผู้ค้ำประกันต้องรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วม  เป็นโมฆะ ?

#ผู้ค้ำประกันทำสัญญายินยอมเป็นลูกหนี้ร่วมแทนสัญญาค้ำประกันเพื่อหลีกเลี่ยงกฎหมาย ?

#โจทก์ใช้สิทธิไม่สุจริต

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๘๔๒๕/๒๕๖๓  ( ๑๖ มิถุนายน ๒๕๖๓ )

เรื่อง  เช่าซื้อ  ค้ำประกัน  ( เครดิต : ทีมทนายพี่ชาลี )

 

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ ๑๗ ธันวาคม ๒๕๕๘ จำเลยที่ ๑ ทำสัญญาเช่าซื้อ

รถยนต์ หมายเลขทะเบียน  กรุงเทพมหานคร ไปจากโจทก์

มีจำเลยที่ ๒ ทำสัญญายินยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วม หลังจากทำสัญญา จำเลยที่ ๑ ผิดนัด

ชำระค่าเช่าซื้อ โจทก์ทวงถามและบอกเลิกสัญญา กับให้จำเลยทั้งสองส่งมอบรถยนต์ที่เช่าซื้อ

คืนโจทก์ แต่จำเลยทั้งสองเพิกเฉย ทำให้โจทได้รับความเสียหาย ขอให้บังคับจำเลยทั้งสอง

ร่วมกันหรือแทนกันส่งมอบรถยนต์ที่เช่าซื้อคืนโจทก็ในสภาพเรียบร้อยใช้การได้ดี หากคืนไม่ได้

ให้ใช้ราคาแทนเป็นเงิน ๒๘๐,๐๐๐ บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ ๑๕ ต่อปี นับแต่

วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะส่งมอบรถยนต์ที่เช่าซื้อคืนหรือใช้ราคาแทนแล้วเสร็จแก่โจทก์

ให้ร่วมกันหรือแทนกันชำระค่าเช่าซื้อที่ค้างชำระก่อนเลิกสัญญา ๖๕,๘๐๐ บาท พร้อมดอกเบี้ย

อัตราร้อยละ ๑๕ ต่อปี นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ กับให้ร่วมกัน

หรือแทนกันชำระค่าเสียหายเป็นค่าใช้สอยรถยนต์โดยมิชอบ ๙,๐๐๐ บาท พร้อมดอกเบี้ย

อัตราร้อยละ ๑๕ ต่อปี นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ และให้ร่วมกัน

ชำระค่าเสียหายดังกล่าวในอัตราเดือนละ ๔,๕๐๐ บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะ

ส่งมอบรถยนต์ที่เช่าซื้อคืนหรือใช้ราคาแทนแล้วเสร็จแก่โจทก์

จำเลยที่ ๑ ขาดนัดยื่นคำให้การ

จำเลยที่ ๒ ให้การว่า สัญญายินยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วมที่จำเลยที่ ๒

ทำกับโจทก์เป็นสัญญาค้ำประกันที่กำหนดให้จำเลยที่ ๒ รับผิดอย่างลูกหนี้ร่วมและไม่ได้กำหนด

วงเงินค้ำประกัน กับมีได้ยื่นแบบสัญญาให้คณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคตรวจสอบและอนุญาต

จึงเป็นโมฆะ โจทก์เรียกร้องราคารถยนต์ใช้แทนและค่าเสียหายสูงเกินความเป็นจริง สัญญา

ไม่มีข้อตกลงให้โจทก์เรียกดอกเบี้ยจากจำเลยที่ ๑ ในอัตราร้อยละ ๑๕ ต่อปี นอกจากนี้โจทก์

มิได้บอกกล่าวไปยังจำเลยที่ ๒ ภายใน ๖๐ วัน นับแต่วันที่จำเลยที่ ๑ ผิดนัด โจทก์

ไม่มีสิทธิเรียกค่าเสียหาย ดอกเบี้ย และอุปกรณ์แห่งหนี้จากจำเลยที่ ๒ ขอให้ยกฟ้อง

ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันส่งมอบรถยนต์ที่เช่าซื้อ

คืนแก่โจทก์ในสภาพเรียบร้อยและใช้การได้ดี หากคืนไม่ได้ให้ใช้ราคาแทนเป็นเงิน ๒๑๕,๐๐๐ บาท

และให้จำเลยที่ ๑ ชำระค่าเสียหายเป็นค่าขาดประโยชน์ ๑๖,๙๐๐ บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตรา

ร้อยละ ๗.๕ ต่อปี ของต้นเงิน ๑๖,๙๐๐ บาท นับถัดจากวันฟ้อง (ฟ้องวันที่ ๒๕ ธันวาคม

๒๕๖๐) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ และค่าขาดประโยชน์ในอัตราเดือนละ

๑,๓๐๐ บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ แต่ทั้งนี้ไม่เกิน ๖ เดือน

โดยให้จำเลยที่ ๒ ร่วมชำระค่าขาดประโยชน์กับจำเลยที่ ๑ เป็นเงิน ๒,๖00 บาท

กับให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ เฉพาะค่าขึ้นศาลให้ใช้แทนเท่าที่โจทก์

ชนะคดี โดยกำหนดค่าทนายความ ๓,๐๐๐ บาท คำขอนอกจากนี้ให้ยก

จำเลยที่ ๒ อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ภาค ๓ แผนกคดีผู้บริโภคพิพากษาแก้เป็นว่า หากจำเลยที่ ๑

ไม่ส่งมอบรถยนต์ที่เช่าซื้อคืนโจทในสภาพเรียบร้อยใช้การได้ดีหรือใช้ราคาแทน ให้จำเลยที่ ๒

ชำระหนี้ดังกล่าวแทน และหากจำเลยที่ ๑ ไม่ชำระค่าขาดประโยชน์นับถึงวันฟ้องให้แก่โจทก์

ให้จำเลยที่ ๒ ชำระแทนเป็นเงิน ๒,๖๐๐ บาท นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษา

ศาลชั้นต้น คืนค่าใช้จ่ายในการส่งคำคู่ความชั้นอุทธรณ์ ๔๐๐ บาท ให้แก่จำเลยที่ ๒

ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์นอกจากที่สั่งคืนให้เป็นพับ

จำเลยที่ ๒ ฎีกา โดยศาลฎีกาแผนกคดีผู้บริโภคอนุญาตให้ฎีกา

ศาลฎีกาแผนกคดีผู้บริโภคตรวจสำนวนประชุมปรึกษาแล้ว ข้อเท็จจริงในชั้น

ฎีการับฟังยุติว่า เมื่อวันที่ ๑๔ ธันวาคม ๒๕๕๘ จำเลยที่ ๑ ทำคำเสนอขอเซ่าซื้อรถยนต์

หมายเลขทะเบียน  กรุงเทพมหานคร จากโจทก์ตามคำเสนอขอทำสัญญาเช่าซื้อ เอกสารหมาย จ.๕ มีจำเลยที่ ๒ ทำคำเสนอขอทำหนังสือยินยอมเป็นลูกหนี้ร่วม ตามเอกสารหมาย จ.๖ ต่อมาเมื่อวันที่ ๑๗ ธันวาคม ๒๕๕๘ จำเลยที่ ๑

ทำสัญญาเช่าซื้อรถยนต์ดังกล่าวจากโจทก์ในราคาเช่าซื้อ ๓๔๔,๒๙๙.๒๐ บาท (ไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม) กำหนดชำระ ๖๐ งวด งวดละ ๕,๗๓๘.๓๒ บาท (ไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม)

เริ่มชำระงวดแรกในวันที่ ๒๐ มกราคม ๒๕๕๙ งวดต่อไปชำระภายในวันที่ ๒๐ ของทุกเดือน

ถัดไปจนกว่าจะครบ ตามสัญญาเช่าซื้อเอกสารหมาย จ.๗ มีจำเลยที่ ๒ ทำสัญญายินยอมเป็น

ลูกหนี้ร่วม ตามสัญญายินยอมเป็นลูกหนี้ร่วมเอกสารหมาย จ.๘ ภายหลังทำสัญญา จำเลยที่ ๑

ชำระค่าเช่าซื้อให้โจทก์เพียง ๙ งวดเศษ รวมเป็นเงินทั้งสิ้น ๕๔,๖๙๒.๐๗ บาท

(ไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม) แล้วผิดนัดชำระค่าเช่าซื้อตั้งแต่งวดที่ ๑๐ ประจำวันที่ ๒๐ ตุลาคม

๒๕๕๙ โจทก์บอกกล่าวทวงถามและบอกเลิกสัญญาให้จำเลยทั้งสองส่งมอบรถยนต์ที่เช่าซื้อคืน

แก่โจทก์ แต่จำเลยทั้งสองเพิกเฉยและไม่ได้ส่งมอบรถยนต์ที่เช่าซื้อคืนแก่โจทก์ คดีระหว่าง

โจทก์กับจำเลยที่ ๑ ไม่มีคู่ความฝ่ายใด ฎีกาจึงยุติตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค ๓

คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามที่จำเลยที่ ๒ ได้รับอนุญาตให้ฎีกาข้อแรกว่า

จำเลยที่ ๒ ต้องรับผิดชำระหนี้ตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค ๓ ต่อโจทก์หรือไม่ นั้น

โดยจำเลยที่ ๒ ฎีกาว่า สัญญาข้อ ๑ และข้อ ๔ ระบุให้จำเลยที่ ๒ รับผิดอย่างลูกหนี้ร่วม

สัญญาข้อนี้จึงตกเป็นโมฆะ ส่วนสัญญาข้อ ๒, ๓, ๕, ๖ และ ๗ มิได้มีข้อตกลงให้

จำเลยที่ ๒ รับผิดชำระเงินค่าเช่าซื้อ ค่าเสียหาย และมีหน้าที่จะต้องส่งมอบรถยนต์ที่เช่าซื้อ

คืนแก่โจทก์ประกอบกับประมวลกฎหมายแพงและพาณิชย์ มาตรา ๖๘๑/๑ ที่ได้แก้ไขใหม่

มีวัตถุประสงค์เพื่อแก้ไขปัญหาสำหรับกรณีเจ้าหนี้อาศัยการทำสัญญาเป็นเครื่องมือทำให้

ผู้ค้ำประกันซึ่งเป็นลูกหนี้ชั้นสองต้องรับผิดเช่นเดียวกับลูกหนี้ชั้นต้น โจทก์ใช้กฎหมายเป็น

เครื่องมือในการเอาเปรียบผู้บริโภครวมทั้งจำเลยที่ ๒ ทั้ง ๆ ที่ทราบดีอยู่แล้วว่าเป็นการกระทำ

ที่ขัดต่อกฎหมาย โจทก์จึงไม่สมควรที่จะได้รับความคุ้มครองตามกฎหมาย นั้น

เห็นว่า ก่อนที่โจทก์กับจำเลยทั้งสองจะทำสัญญากัน ได้มีการตราพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติม

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ ๒๐) พ.ศ. ๒๕๕๗ ขึ้นโดยมีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ ๑๒

กุมภาพันธ์ ๒๕๕๘ แก้ไขเพิ่มเติมบทบัญญัติในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วย

ค้ำประกันหลายมาตราโดยเฉพาะอย่างยิ่งได้ยกเลิกมาตรา ๖๘๑ (เดิม) และเพิ่มเติม

มาตรา ๖๘๑/๑ วรรคหนึ่ง ซึ่งบัญญัติว่า “ข้อตกลงข้อใดที่กำหนดให้ผู้ค้ำประกันต้องรับผิด

อย่างเดียวกับลูกหนี้ร่วมหรือในฐานะลูกหนี้ร่วม ข้อตกลงนั้นเป็นโมฆะ” โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้

ผู้ค้ำประกันมีสถานะเป็นลูกหนี้ชั้นสองอย่างแท้จริง จึงห้ามเจ้าหนี้ทำสัญญาให้ผู้ค้ำประกันรับผิด

อย่างลูกหนี้ร่วมหรือในฐานะเป็นลูกหนี้ร่วมในหนี้ที่ตนเป็นผู้ค้ำประกัน แต่บทบัญญัติดังกล่าว

ไม่ได้มีผลกระทบต่อการทำสัญญาอื่นที่ไม่ใช่สัญญาค้ำประกัน กรณีต้องพิจารณาเสียก่อนว่า

สัญญาระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ ๒ เป็นสัญญาประเภทใด ซึ่งในการตีความสัญญานั้นนอกจาก

ตีความจากข้อความที่เขียนไว้ในสัญญาแล้วยังต้องเพ่งเล็งถึงเจตนาอันแท้จริงยิ่งกว่าถ้อยคำ

สำนวนหรือตัวอักษรและต้องเป็นไปตามความประสงค์ในทางสุจริต โดยพิเคราะห์ถึงปกติ

ประเพณีตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๗๑ และมาตรา ๓๖๘ ข้อเท็จจริง

ได้ความว่า ก่อนทำสัญญาเช่าซื้อเอกสารหมาย จ.๗ และสัญญายินยอมเป็นลูกหนี้ร่วม

เอกสารหมาย จ.๘ จำเลยที่ ๑ ทำคำเสนอขอทำสัญญาเช่าซื้อเอกสารหมาย จ.๕ โดยระบุ

ในคำเสนอว่า จำเลยที่ ๑ ได้ตกลงซื้อรถยนต์จากเจ้าของหรือผู้จำหน่าย จึงขออนุมัติสินเชื่อ

จากโจทก์เพื่อนำไปชำระราคารถยนต์แก่เจ้าของหรือผู้จำหน่ายโดยตกลงโอนกรรมสิทธิ์ในรถยนต์

แก่โจทก์และผ่อนชำระเงินคืนโดยวิธีเช่าซื้อต่อไป เพื่อให้จำเลยที่ ๑ ทำสัญญาเช่าซื้อรถยนต์

ดังกล่าวจากโจทก์ ส่วนจำเลยที่ ๒ ทำคำเสนอขอทำหนังสือยินยอมเป็นลูกหนี้ร่วมตาม

เอกสารหมาย จ.๖ โดยระบุในคำเสนอว่า เพื่อให้โจทก์พิจารณาอนุมัติสินเชื่อให้แก่

จำเลยที่ ๑ ผู้เช่าตามคำขอและเพื่อให้ผู้เช่าได้รับรถยนต์คันที่ขอเช่าซื้อไปใช้ประโยชน์

ตามวัตถุประสงค์ของการเช่าซื้อ แสดงให้เห็นเจตนาที่แท้จริงของการทำสัญญาระหว่างโจทก์กับ

จำเลยทั้งสองว่า จำเลยที่ ๑ แต่ผู้เดียวประสงค์จะซื้อรถยนต์โดยขอสินเชื่อจากโจทก์แต่เพื่อให้

แน่ใจว่าโจทก์จะได้รับชำระหนี้ครบถ้วน จึงให้จำเลยที่ ๒ ทำสัญญายินยอมเป็นลูกหนี้ร่วมเพื่อ

ผูกพันรับผิดต่อโจทก์ด้วย อันเป็นประโยชน์แก่โจทก์และจำเลยที่ ๑ เท่านั้น จำเลยที่ ๒

หาได้รับผลประโยชน์หรือมีส่วนเกี่ยวข้องกับรถยนต์คันที่เช่าซื้อแต่อย่างใดไม่ การทำสัญญาของ

จำเลยที่ ๒ จึงมีลักษณะเข้าผูกพันเพื่อเป็นประกันการชำระหนี้ให้แก่จำเลยที่ ๑ จึงเป็น

สัญญาค้ำประกัน แต่เนื่องจากกฎหมายค้ำประกันใหม่ห้ามมิให้มีข้อตกลงให้ผู้ค้ำประกันยอม

รับผิดอย่างลูกหนี้ร่วม โจทก์จึงอาศัยกฎหมายเกี่ยวกับลูกหนี้ร่วมมาบังคับใช้กับจำเลยที่ ๒ แทน

 โดยให้จำเลยที่ ๒ ลงลายมือชื่อในแบบสัญญาที่โจทก็พิมพ์ข้อความไว้ล่วงหน้ามี

สาระสำคัญว่า จำเลยที่ ๒ ต้องยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วม นอกจากนี้ยังมีข้อความที่จำเลยที่ ๒

ตกลงล่วงหน้ายินยอมให้มีการผ่อนเวลาชำระหนี้แก่จำเลยที่ ๑ ตกลงยินยอมรับผิดเต็มจำนวน

แม้โจทก์ปลดหนี้หรือลดหนี้ให้แก่จำเลยที่ ๑ แล้ว และยอมรับผิดแม้จำเลยที่ ๑ เป็นบุคคล

ไร้ความสามารถหรือเข้าทำสัญญาด้วยความสำคัญผิดอย่างใด ๆ ไม่ว่าจำเลยที่ ๒ จะได้รู้ถึง

เหตุความสามารถหรือความสำคัญผิดนั้นในขณะเข้าทำสัญญาหรือไม่ ซึ่งล้วนเป็นเรื่องที่บัญญัติ

ไว้เป็นเฉพาะในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ ๓ ลักษณะ ๑๑ ค้ำประกัน แต่

โจทก์จัดทำสัญญาโดยกำหนดให้จำเลยที่ ๒  ต้องรับผิดหรือรับภาระมากกว่าที่กฎหมายดังกล่าว

บัญญัติหากจำเลยที่ ๒ ไม่ใช่ผู้ค้ำประกันก็ไม่มีความจำเป็นต้องกระทำเช่นนั้น ประกอบกับตาม

ประเพณีการประกอบธุรกิจให้เช่าซี้อรถยนต์ ผู้ประกอบธุรกิจให้เช่าซื้อจะจัดให้ผู้เช่าซื้อทำสัญญา

เช่าซื้อ ส่วนบุคคลที่ต้องร่วมรับผิดในหนี้ของผู้เช่าซื้อ ผู้ประกอบธุรกิจจะจัดให้ทำสัญญาค้ำประกัน

ประกอบกัน ข้อตกลงที่กำหนดให้จำเลยที่ ๒ ต้องรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วมจึงขัดต่อกฎหมายและ

ตกเป็นโมฆะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๖๘๑/๑ วรรคหนึ่ง

เมื่อพิเคราะห์ถึงสถานะของโจทก์ที่เป็นผู้ประกอบธุรกิจให้เช่าซื้อย่อมทราบดีว่า มีการแก้ไข

กฎหมายลักษณะค้ำประกันโดยห้ามมีให้ทำสัญญาที่กำหนดให้ผู้ค้ำประกันต้องรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วมก็เพื่อคุ้มครอง

ผู้ค้ำประกันและลูกหนี้ซึ่งเป็นผู้บริโภคไม่ให้ถูกผู้ประกอบธุรกิจเอาเปรียบ แต่แทนที่จะจัดทำสัญญาค้ำประกัน

ให้เป็นไปตามเจตนารมณ์ของกฎหมาย โจทก์กลับหาช่องทางหลีกเลี่ยงกฎหมาย

โดยอาศัยอำนาจต่อรองที่เหนือกว่าและมีความสันทัดจัดเจนในข้อกฎหมายมากกว่า จัดให้

จำเลยที่ ๒ ทำสัญญายินยอมเป็นลูกหนี้ร่วมแทนการทำสัญญาค้ำประกันอย่างตรงไปตรงมา

ถือว่าโจทก์ผู้ประกอบธุรกิจไม่ใช้สิทธิแห่งตนด้วยความสุจริตโดยคำนึงถึงมาตรฐานทางการค้า

ที่เหมาะสมภายใต้ระบบธุรกิจที่เป็นธรรมตามพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค

พ.ศ. ๒๕๕๑ มาตรา ๑๒ ทั้งสัญญายินยอมเป็นลูกหนี้ร่วมระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ ๒

ที่มีวัตถุประสงค์ของสัญญาขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน

เมื่อไม่มีส่วนใดที่สมบูรณ์แยกส่วนออกมาได้ จึงตกเป็นโมฆะทั้งฉบับตามประมวลกฎหมาย

แพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๕๐  โจทก์ย่อมไม่มีความชอบธรรมที่จะอ้างสิทธิใด ๆ จาก

สัญญายินยอมเป็นลูกหนี้ร่วมเอกสารหมาย จ.๘

โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ ๒ ให้รับผิดตามสัญญา จำเลยที่ ๒ จึงไม่ต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ ๑

ที่ศาลอุทธรณ์ภาค ๓ วินิจฉัยมานั้น ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา

ฎีกาของจำเลยที่ ๒ ฟังขึ้น คดีไม่จำต้องวินิจฉัยตามที่จำเลยที่ ๒ ได้รับอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาว่า คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค ๓ มิได้ให้เหตุผลแห่งคำวินิจฉัยอันไม่ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่อีกต่อไป   เนื่องจากไม่มีผลเปลี่ยนแปลงคำพิพากษา

พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องจำเลยที่ ๒ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตาม

คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค ๓ ค่าฤชาธรรมเนียมระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ ๒ ทั้งสามศาลให้เป็นพับ.

เครดิต : ทีมทนายพี่ชาลี

ทนายสายตรง.com
ปรึกษาอรรถคดีและว่าความทั่วราชอาณาจักร โดยทนายความชำนัญพิเศษเฉพาะทาง

บทความกฎหมาย

หลักการการขออายัดที่ดิน

ความหมาย   อายัดที่ดิน หมายถึง การขอให้ระงับการจดทะเบียนหรือการเปลี่ยนแปลงหางทะเบียน เกี่ยวกับที่ดินไว้ซึ่งระยะเวลาหนึ่ง ㆍ กฎหมายและคำสั่งที่เกี่ยวข้อง – ประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา ๘๓ – คำสั่งกระหรวงมหาดไทย ที่ ๖๓๕/๒๕๔๗ ลงวันที่  ๒๓  ธันวาค

อ่านต่อ »

ผู้เช่าซื้อเลิกสัญญาโดยส่งมอบรถคืน ตามมาตรา 573

#ผู้เช่าซื้อเลิกสัญญาโดยส่งมอบรถคืน  ตามมาตรา 573  ต้องเป็นกรณีที่ผู้เช่าซื้อไม่ได้เป็นผู้ผิดสัญญา หากผู้เช่าซื้อเป็นฝ่ายผิดนัดไม่ชำระค่าเช่าซื้อก่อนส่งมอบรถยนต์คันที่เช่าซื้อ  ผู้เช่าซื้อย่อมไม่อาจใช้สิทธิ์บอกเลิกสัญญาตามมาตรา 573 ได้ #แต่หากผู้เช่า

อ่านต่อ »

ฎีกาฉบับเต็ม

#ไฟแนนซ์มีข้อตกลงให้ผู้ค้ำประกันต้องรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วม  เป็นโมฆะ ? #ผู้ค้ำประกันทำสัญญายินยอมเป็นลูกหนี้ร่วมแทนสัญญาค้ำประกันเพื่อหลีกเลี่ยงกฎหมาย ? #โจทก์ใช้สิทธิไม่สุจริต คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๘๔๒๕/๒๕๖๓  ( ๑๖ มิถุนายน ๒๕๖๓ ) เรื่อง  เช่าซื้อ  ค้ำ

อ่านต่อ »